การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (แนวคิดใหม่)

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า

การลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือการลงทุนแบบ VI เป็นรูปแบบการลงทุนที่ต้องมีการวิเคราะห์หลักทรัพย์โดยใช้ปัจจัยพื้นฐาน โดยการวิเคราะห์บริษัทหรือหุ้นที่เราสนใจลงทุน แล้ววิเคราะห์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท หลังจากนั้นจึงวิเคราะห์เศรษฐกิจระดับมหภาค หรือสามารถวิเคราะห์จากเศรษฐกิจระดับมหภาค วิเคราะห์อุตสาหกรรม แล้วจึงวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานบริษัท เพื่อให้เห็นภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบัน แนวโน้มอุตสาหกรรม และแนวโน้มผลประกอบการของบริษัท แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์มาใช้ประเมินมูลค่ากิจการหรือราคาหุ้น

ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยพัฒนาขึ้นมากในด้านแนวคิดการลงทุน ประกอบกับมีจำนวนนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความผันผวนของตลาดหุ้นมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งแนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต ใช้ไม่ได้ผลเสมอไปในปัจจุบัน เนื่องจากกระแสเงินลงทุน เศรษฐกิจ และตลาดทุนมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ผลตอบแทนระยะยาวจากการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน จึงเป็นที่มาในการพัฒนาเครื่องมือและนำเทคโนโลยีมาช่วยในการวิเคราะห์เศรษฐกิจและตัดสินใจลงทุน

สไตล์การลงทุนแบบ VI

  • ก่อนที่จะซื้อหุ้น ควรรู้จักฝ่ายบริหารไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เข้าชมกิจการ ดูการตอบรับของผู้บริโภค
  • วิเคราะห์ธุรกิจจากผลประกอบการ งบการเงิน การตลาด ฝ่ายบริหาร ความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรม คือต้องมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจที่เราสนใจลงทุน
  • ดูความสามารถของผู้บริหารได้จาก การตัดสินใจลงทุน การจัดสรรเงินลงทุน เงินปันผล กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ
  • ไม่ค่อยสนใจหุ้น IPO ถึงแม้รู้ว่าอาจทำกำไรได้ค่อนข้างมาก เพราะมองว่าเป็นตลาดที่มีการเก็งกำไรค่อนข้างสูง ผมคิดว่าส่วนใหญ่ราคาที่ตั้งไว้สูงกว่ามูลค่าพื้นฐานของบริษัท
  • Margin of Safety หรือส่วนเผื่อความปลอดภัย เผื่อกรณีที่เราอาจจะวิเคราะห์บริษัทผิดพลาด หรือมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เกิดกับบริษัทที่เราลงทุน
  • การวิเคราะห์ดูทั้งตัวบริษัท อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจโดยรวม เพราะปัจจุบันโลกมีความเปลี่ยนแปลง ธุรกิจของบริษัทอาจถูก Disruption จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต
  • คิดค้น พัฒนาและใช้เทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจโลก เพื่อดูวงจร วัฏจักรของเศรษฐกิจ และความครอบคลุมในด้านของมุมมองการเงิน การลงทุน และประโยชน์ในการหาจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อตลาดหุ้นและการลงทุน ก็คือ ภาวะเศรษฐกิจ การวิเคราะห์เศรษฐกิจ สามารถวิเคราะห์จากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ และตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ที่มีผลต่อทิศทางตลาดหุ้น กระแสเงินลงทุน และแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ

การวิเคราะห์เศรษฐกิจ

การนำหลักการวิเคราะห์เศรษฐกิจของธนาคารกลางมาใช้กับการลงทุน จะช่วยให้นักลงทุน VI สามารถวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจได้อย่างครอบคลุม โดยใช้ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

  • การบริโภคภาคเอกชน
  • การลงทุนภาคเอกชน
  • การใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน
  • การส่งออก
  • การนำเข้า
  • ภาคการท่องเที่ยว
  • เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด หนี้สาธารณะ ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

ตัวบ่งชี้ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ

การดูสัญญาณทางเศรษฐกิจ และตัวบ่งชี้ที่สำคัญ โดยใช้ "ตัวแบบวิเคราะห์เศรษฐกิจ" ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แนวโน้มเศรษฐกิจ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และบริษัทหรือหุ้นรายตัว บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง โดยต้นแบบ "ตัวแบบวิเคราะห์เศรษฐกิจ" มีดังนี้

  • การเติบโตของจีดีพี เป็นดัชนีชี้วัดการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศว่าในแต่ละปีมีการเติบโตเพิ่มขึ้น หรือลดลงเท่าใด
  • อัตราเงินเฟ้อ เป็นการดูภาพรวมเศรษฐกิจจากราคาสินค้าและบริการต่างๆ ว่ามีราคาแพงขึ้น หรือราคาลดลง และส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าใด ดังนั้น ในการลงทุน ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ
  • อัตราการว่างงาน เป็นการดูภาพรวมอัตราการว่างงาน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลง และอาจพิจารณาถึงความยากง่ายในการหาแรงงานของผู้ประกอบการ จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศ นอกจากนี้ ควรพิจารณาจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และสัดส่วนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานต่อผู้ประกันตน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคว่ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อเศรษฐกิจ และการจับจ่ายใช้สอยทั้งในปัจจุบันและอนาคต
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ เป็นตัวบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจ ที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจขนาดใหญ่ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การลงทุน คำสั่งซื้อ การผลิต ต้นทุนการผลิต การจ้างงาน และผลประกอบการ
  • ถ้าดัชนี = 50 แสดงว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ "ทรงตัว" จากเดือนก่อน

    ถ้าดัชนี มากกว่า 50 แสดงว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ "มากกว่า" เดือนก่อน

    ถ้าดัชนี น้อยกว่า 50 แสดงว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ "น้อยกว่า" เดือนก่อน

  • ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน เป็นตัวบ่งชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อใช้ประเมินแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชน มีองค์ประกอบ 5 อย่าง ได้แก่ พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ทั้งปูนซีเมนต์ กระเบื้อง คอนกรีต ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักร อุปกรณ์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน และปริมาณการจำหน่ายยานยนต์เพื่อการลงทุน
Value Investing

การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้น

การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นผันผวน จากกระแสเงินทุนและภาวะตลาด เช่น กระแสเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ได้แก่ ดัชนีดาวโจนส์ น้ำมัน ทองคำ อัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรู้จักตลาดหุ้นให้มากพอ ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการลงทุน ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน อัตราดอกเบี้ย และการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ เพราะฉะนั้น ต้องมีการติดตามตัวเลขข้อมูลเศรษฐกิจโลก ที่อาจส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้น ซึ่งมีปัจจัยที่สำคัญ และแนวทางการวิเคราะห์ดังนี้

  • ข่าวภายในประเทศ > ที่มีผลต่อการลงทุน
  • ข่าวต่างประเทศ > ที่มีผลต่อการลงทุน
  • ข่าวบริษัทจดทะเบียน ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน มูลค่าการซื้อขายโดยรวมของตลาดหุ้น กระแสเงินทุนจากนักลงทุนกลุ่มต่างๆ ทั้งนักลงทุนสถาบัน บริษัทหลักทรัพย์ นักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนต่างชาติ ค่า PE ของตลาด และสถิติสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ หรือ SET ดูข้อมูลได้ที่ Settrade >
  • การเติบโตของเศรษฐกิจไทย และข้อมูลเศรษฐกิจไทยเชิงลึก ดูข้อมูลได้ที่หน้าเว็บ ข้อมูลเศรษฐกิจไทย >
  • วิกฤตที่อาจทำให้ตลาดหุ้นโลกปรับฐาน โดยการวิเคราะห์แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย ราคาทองคำ ราคาน้ำมัน และดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุน ดูข้อมูลได้ที่หน้าเว็บ ภาวะตลาด >
  • อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย และนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ยอดค้าปลีก ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ และประเทศต่างๆ ที่สะท้อนการใช้จ่ายโดยรวมของผู้บริโภค ยอดสั่งซื้อสินค้าทุน ไม่รวมอาวุธและเครื่องบินที่สะท้อนการใช้จ่ายโดยรวมของภาคธุรกิจ ตลาดแรงงาน ตัวเลขการจ้างงาน อัตราการว่างงาน ที่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุน ดูข้อมูลได้ที่หน้าเว็บ ข้อมูลเศรษฐกิจโลก >

เพราะฉะนั้น การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ควรให้ความสำคัญจากปัจจัยต่างๆ ทั้ง 7 อย่าง ได้แก่

  1. ภาพรวมเศรษฐกิจโลก ที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก
  2. ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเน้นวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศต่างๆที่สำคัญและมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน
  3. ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่ได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบจากเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ และเศรษฐกิจโลก
  4. ภาพรวมอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ลงทุน ที่ได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบจากเศรษฐกิจไทย
  5. ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ที่ได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบจากความเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม
  6. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่อาจส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และบริษัท
  7. ความไม่แน่นอน หรือความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรม และบริษัทหรือหุ้นที่ลงทุน

การตัดสินใจลงทุน

การตัดสินใจลงทุน อาจพิจารณาสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น จิตวิทยาการลงทุน อารมณ์ของตลาดที่มีผลต่อราคาหุ้น ความเข้าใจนี้ทำให้เราซื้อขายหุ้น ได้ถูกจังหวะเวลามากขึ้น และอาจทำให้เราได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น การศึกษาประวัติศาสตร์ จิตวิทยา และยีนส์ของมนุษย์ ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ บัญชี การอ่านงบการเงิน กลยุทธ์ ตำแหน่งทางการตลาด Business Model คุณภาพของฝ่ายบริหาร และความสามารถในการแข่งขันของบริษัท

ธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุน บริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับการลงทุน เช่น โบรกเกอร์ เว็บไซต์ สื่อต่างๆ แต่ละฝ่ายมีแรงจูงใจและมีเป้าหมายผลตอบแทนไม่เหมือนกัน ในด้านของบริษัทจดทะเบียนเอง ผู้บริหารหรือเจ้าของ ก็มีแรงจูงใจไม่เหมือนกัน รวมทั้งศึกษาถึงการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ให้เข้าใจ เช่น การขายหุ้น IPO การออกวอร์แรนท์ การลดพาร์และอื่นๆ ว่าเขาทำเพื่ออะไร เป็นประโยชน์และทำให้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเพิ่มขึ้นหรือไม่

สรุป การลงทุนแบบเน้นคุณค่าต้องมีการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและใช้เวลานานพอสมควร แต่ถ้าเรามีโปรแกรมช่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจ ก็จะช่วยให้ประหยัดเวลา นี่คือที่มาที่ไปในการคิดค้นเครื่องมือวิเคราะห์เศรษฐกิจแบบได้ครบ จบในที่เดียว ที่ผมคิดค้นพัฒนาขึ้นมา เพื่อช่วยให้คุณสามารถวิเคราะห์เศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และช่วยให้เห็นภาพรวมเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้น