ดัชนี PMI คืออะไร นำไปใช้ประโยชน์กับอะไรได้บ้าง

ดัชนี PMI คืออะไร นำไปใช้ประโยชน์กับอะไรได้บ้าง

ข้อมูลเศรษฐกิจที่เรามักได้ยินบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร การเงิน การลงทุน ข่าวเศรษฐกิจ และการวิเคราะห์เศรษฐกิจก็คือ ดัชนี PMI หลายท่านอาจจะทราบอยู่แล้วว่า ดัชนี PMI คืออะไร แต่อยากจะรู้ว่าดัชนี PMI มีประโยชน์อะไรบ้าง บทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจดัชนี PMI เชิงลึกว่ามีความสำคัญอย่างไร ดัชนี PMI บอกทิศทางเศรษฐกิจได้อย่างไร แล้วเราจะนำตัวเลขดัชนี PMI ไปใช้ประโยชน์กับการลงทุนได้อย่างไร

ดัชนี PMI คืออะไร นำไปใช้ประโยชน์กับอะไรได้บ้าง

ดัชนี PMI คือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Purchasing Manager Index เป็นดัชนีที่ได้มาจากการสำรวจข้อมูลจากผู้บริหารอาวุโสของบริษัทเอกชนจากประเทศต่างๆ กว่า 400 บริษัท และมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทั้งประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา มีการจัดทำและเผยแพร่เป็นประจำทุกเดือน ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต ดัชนี PMI ภาคการบริการ และดัชนี Composite PMI หรือดัชนี PMI เศรษฐกิจโดยรวม

ดัชนี PMI เป็นตัวบ่งชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคการผลิตและภาคบริการของประเทศต่างๆ การติดตามตัวเลขดัชนี PMI อย่างสม่ำเสมอจะทำให้นักลงทุน นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ประกอบการ นักวิเคราะห์ และผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเห็นภาพรวมและแนวโน้มของเศรษฐกิจทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วเพราะรายงานตัวเลขดัชนีเป็นรายเดือน

ISM PMI คืออะไร

ดัชนี ISM PMI คือ ตัวบ่งชี้แบบสำรวจธุรกิจรายเดือนที่จัดทำขึ้นในอเมริกาโดย Institute of Supply Management หรือเรียกชื่อย่อว่า ISM โดยพิจารณาจากแบบสอบถามที่รวบรวมจากสมาชิกซึ่งส่วนใหญ่มาจากห่วงโซ่อุปทานหรือผู้บริหารฝ่ายจัดซื้อในองค์กรขนาดใหญ่

Services PMI คืออะไร

ดัชนี Services PMI มีการริเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 1996 โดยนักเศรษฐศาสตร์ของ S&P Global เพื่อใช้ร่วมกับดัชนี PMI ภาคการผลิตที่มีอยู่แล้ว เนื่องจากภาคบริการมีสัดส่วนต่อจีดีพีมากกว่าภาคการผลิตสำหรับประเทศส่วนใหญ่ที่พัฒนาแล้ว ดัชนี PMI ภาคบริการเกิดจากความต้องการของนักวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจเมื่อเศรษฐกิจมีการขยายตัวมากขึ้น

Global PMI คืออะไร

ดัชนี Global PMI เป็นตัวชี้วัดชั้นนำทางเศรษฐกิจ ที่รวบรวมโดย S&P Global มีการใช้งานอย่างกว้างขวางโดยนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ตลาดการเงิน เนื่องจากสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกอย่างทันท่วงทีเกี่ยวกับสภาพความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Global Purchasing Managers' Index ดัชนี Global PMI ได้มาจากการตอบแบบสอบถามเป็นรายเดือนที่ส่งไปยังบริษัทต่างๆในภาคการผลิตและภาคบริการมากกว่า 40 ประเทศ ประมาณ 28,000 บริษัท ซึ่งประเทศเหล่านี้มีสัดส่วน 89% ของจีดีพีทั่วโลก

ข้อมูลดัชนี Global PMI สำหรับภาคการผลิตและภาคบริการ คำนวณโดยการถ่วงน้ำหนักดัชนีต่างๆของประเทศเข้าด้วยกัน โดยใช้น้ำหนักของจีดีพีภาคการผลิตและจีดีพีภาคบริการของประเทศ (Manufacturing and Services GDP) หลังจากนั้น ดัชนี Global Composite PMI จะคำนวณได้โดยการถ่วงน้ำหนักดัชนีภาคการผลิตและภาคบริการทั่วโลกที่เทียบเคียงได้โดยใช้มูลค่าเพิ่มรายปีของภาคการผลิตและภาคบริการทั่วโลก

กราฟเปรียบเทียบระหว่างตัวเลข Real GDP และตัวเลขดัชนี PMI ของสหรัฐ

กราฟเปรียบเทียบระหว่างตัวเลข Real GDP และตัวเลขดัชนี PMI ของสหรัฐ

การใช้ประโยชน์จากตัวเลขดัชนี PMI

  • ดัชนี PMI ที่น้อยกว่า 50 แสดงว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการหดตัว
  • ดัชนี PMI ที่เท่ากับ 50 แสดงว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจคงที่หรือไม่ขยายตัว
  • ดัชนี PMI ที่มากกว่า 50 แสดงว่ากิจกรรมเศรษฐกิจมีการขยายตัว
  • ดัชนี PMI จะสะท้อนภาพรวมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ โดยการสำรวจโครงสร้างของภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคการก่อสร้าง หรือรวบรวมจากภาคธุรกิจทั้งหมดของระบบเศรษฐกิจ เช่น ยอดการผลิต คำสั่งซื้อสินค้าใหม่ คำสั่งซื้อใหม่ของสินค้าส่งออก สินค้าวัตถุดิบคงคลัง ต้นทุนรวม มูลค่าธุรกรรมการซื้อขาย ต้นทุนพนักงาน เวลาในการส่งมอบของซัพพลายเออร์ จำนวนธุรกรรมการซื้อขาย และการจ้างงาน นอกจากนี้ ดัชนีตัวรองจะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น จีดีพี อัตราเงินเฟ้อ การส่งออก อัตราการใช้กำลังการผลิต การจ้างงาน และยอดสินค้าคงเหลือ

    จากภาพในกราฟเปรียบเทียบระหว่างตัวเลข Real GDP และตัวเลขดัชนี PMI ของสหรัฐ (ISM PMI) คุณจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวของดัชนี PMI มีความสัมพันธ์กับตัวเลขการเติบโตของจีดีพี แต่ส่วนใหญ่ดัชนี PMI มีการเคลื่อนไหวที่เร็วกว่าตัวเลขจีดีพี และมีเหตุการณ์หลายครั้งที่ดัชนี PMI สามารถบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจล่วงหน้าได้ 3-6 เดือนก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หรือก่อนที่เศรษฐกิจจะถึงจุดเฟื่องฟูแล้วเศรษฐกิจถดถอย เพราะฉะนั้น เราสามารถใช้ตัวเลขดัชนี PMI มาเป็นตัวบอกจังหวะการลงทุนควบคู่กับตัวเลข GDP และอัตราเงินเฟ้อ คล้ายๆ กับกราฟทางเทคนิค แต่การลงทุนแบบเน้นคุณค่าสไตล์นี้จะเป็นการลงทุนโดยใช้เทคนิคทางเศรษฐกิจควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี

    ดัชนี PMI เป็นตัวชี้นำเศรษฐกิจ ?

    ดัชนี PMI เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นตัวชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความแม่นยำ ช่วยให้นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์สามารถคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจ เช่น การเติบโตของจีดีพี การผลิตภาคอุตสาหกรรม การจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากดัชนี PMI บางครั้งมีการเผยแพร่หลายเดือนก่อนมีการสรุปภาวะเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ

    ดัชนี PMI สำคัญอย่างไร ?

    ดัชนี PMI ภาคการผลิต ได้มาจากการสำรวจกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตเสื้อผ้า ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ยาสูบ รองเท้า กระเป๋าเดินทาง ผลิตภัณฑ์จากไม้ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร และการผลิตยานยนต์ เป็นต้น

    ดัชนี PMI ภาคบริการ ได้มาจากการสำรวจกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมการบริการ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมและภัตตาคาร การขนส่งภาคพื้นดิน การขนส่งทางอากาศ ตัวกลางทางการเงิน การวิจัยและพัฒนา คอมพิวเตอร์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง การให้เช่าเครื่องจักร ไปรษณีย์และโทรคมนาคม กิจกรรมนันทนาการ วัฒนธรรม และการกีฬา เป็นต้น


    แล้วเราจะดูดัชนี PMI ได้จากที่ไหน

    คุณสามารถดูรายงานดัชนี PMI ได้จากปฏิทินเศรษฐกิจที่หน้าเว็บข้อมูลเศรษฐกิจโลก หากต้องการดูดัชนี PMI ภาคการผลิตโดยเฉพาะ สามารถดูได้ที่หน้าเว็บ ดัชนี PMI ภาคการผลิต โปรแกรมจะอัพเดตข้อมูลอัตโนมัติทุกเดือนตามรายงานดัชนี PMI ทั่วโลก จากเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทเทรดดิ้งวิว (FinTech Company) เจ้าของนวัตกรรมที่บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ทั่วโลกนำไปใช้งาน เช่น เว็บไซต์ S&P Global ที่เป็นผู้สำรวจดัชนี PMI เว็บไซต์ Bitcoin.com เว็บไซต์ investing.com และโปรแกรมซื้อขายหุ้น Streaming ที่นักลงทุนต่างก็คุ้นเคยและเคยใช้งานนั่นเอง

    ข้อมูลอ้างอิง
  • Bureau of Economic Analysis (BEA)
  • Institute for Supply Management (ISM)
  • https://www.spglobal.com/marketintelligence/en/mi/products/pmi-faq.html