แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปี 2020

อัตราการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 1-2 ปีนี้  มีอัตราการเติบโตที่สูง  ส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจาก  การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากฐานที่ต่ำ ที่ธุรกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบ จากอุทกภัย ในช่วงปี 2554 ส่งผลให้อุปสงค์ชะลอตัวลง  แล้วก็ค่อยๆ ทยอยตัดสินใจซื้อในช่วง 1-2 ปีนี้  ทำให้อัตราการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยช่วงนี้  ดูเหมือนจะสูงมาก  เมื่อเทียบกับปี 2554   จนทำให้นักวิชาการทั้งหลาย ออกมาให้ความเห็นและแสดงความกังวลว่า  อาจจะมีการเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์เหมือนเช่นในอดีตอีกหรือไม่   แต่เมื่อเราสังเกตุให้ดีๆ และเปรียบเทียบจำนวนที่อยู่อาศัยจดทะเบียนในปี 2555 แล้ว จะพบว่าใกล้เคียงกับในช่วงปี 2552-2553  ที่โตต่อเนื่อง และเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากปี 2546

พูดง่ายๆ ก็คือ การเติบโตอย่างหวือหวาในช่วงปี 2540  "มันไม่มีพื้นฐานรองรับ"  และเติบโตภายใต้ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ   แต่การเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น มาจนถึงปัจจุบัน  "มันมีพื้นฐานรองรับ" จากอุปสงค์ที่แท้จริงเป็นส่วนใหญ่  ถึงแม้ว่าบางพื้นที่ อาจจะดูเหมือนว่ามี  over supply  หรืออุปทานส่วนเกิน  แต่คำว่า "over supply"  ก็เป็นกรอบของการคิด และยังมีข้อจำกัดอยู่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ใครจะตัดสินใจซื้อ ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร?  เพราะข้อมูลที่เราได้ มันเป็นมุมมองจากอุปทาน สู่อุปสงค์  การวิเคราะห์ของนักวิชาการทั่วไป ก็เป็นเรื่องที่ดี และเตือนไม่ให้ประมาท  แต่ก็มองจากอุปทาน ไปสู่อุปสงค์เช่นเดียวกัน   แต่อุปสงค์นี้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน เช่นเดียวกับอุปทาน เหนือสิ่งอื่นใด  มันมีความแตกต่างกันระหว่าง มุมมองจาก... "การเรียนรู้ และการคิด ไปสู่การคาดการณ์" ของนักวิชาการ  กับมุมมองจาก... "การเรียนรู้ การคิด และลงมือทำ ไปสู่กระบวน การเรียนรู้ที่แท้จริง" ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ  ว่าคุณจะให้น้ำหนัก และเชื่อถือใคร




 ดูจากภาพแล้ว ถ้าเราพิจารณากันดีๆ  จะพบว่าฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ เกิดขึ้นในช่วงปี 2539 - 2541  แล้วกลับมาสู่ภาวะปกติตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา  และได้เติบโตตามพื้นฐานของเศรษฐกิจที่แท้จริงมาจนถึงปัจจุบัน  กล่าวคือ ฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ มันเกิดขึ้นเมื่อช่วงปี  2540  ไม่ใช่ช่วงปี  2555 หรือปี  2556  ปัจจัยพื้นฐานมันแตกต่างกัน  จากข้อมูลในการวิเคราะห์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่เราทราบกันดีในวงการอสังหาริมทรัพย์  ในช่วงปี 2540 - 2542  ระยะในการปล่อยขายเฉลี่ย อยู่ที่ 4.2 - 6.1 ปี  ขณะที่ในช่วงปี 2547 - 2552  ระยะเวลาในการปล่อยขายอยู่ที่ 1.2 - 1.9 ปี  และเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่ผมลงทุน  ในปี 2555  ระยะเวลาในการปล่อยขายอยู่ที่ประมาณ 1.74 ปี  และในปัจจุบันปี 2556  คาดว่าระยะเวลาในการปล่อยขายจะอยู่ที่ 1.20 ปี  สะท้อนให้เห็นว่า  ระยะเวลาในการปล่อยขาย เทียบเท่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรม ในช่วงปี 2547-2552และยังเป็นอุปสงค์ที่แท้จริงเป็นส่วนใหญ่  ถึงแม้ว่า อัตราการเติบโตและยอดขายของบริษัท จะสูงขึ้นก็ตาม

นอกจากนี้ ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2540 ยังค่อนข้างจะมีความเปราะบางอยู่  ประกอบกับการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ของผู้ประกอบการ และผู้ลงทุนในช่วงนั้น  มีการเก็งกำไรเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ไม่ได้ลงทุนตามปัจจัยพื้นฐาน  เพราะจากข้อมูล  อัตราการก่อสร้างคอนโดมิเนี่ยม ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล  ที่อยู่บริเวณชานเมืองและนอกเส้นทางระบบขนส่งมวลชน ในช่วงปี 2536-2544  มีสัดส่วนถึง 40%   แต่หลังจากปี 2544  เป็นต้นมา  สัดส่วนนี้ลดลงเหลือ 20%   เนื่องจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หันมาให้ความสำคัญกับทำเลและลงทุนตามปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น  โดยการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ และพัฒนาคอนโดมิเนี่ยมตามแนวเส้นทางเดินรถไฟฟ้า  ส่วนต่อขยายระบบขนส่งมวลชน  รถไฟฟ้า MRT  และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นหลัก   เมื่อเราชั่งน้ำหนัก และเลือก  "การเรียนรู้ การคิด และลงมือทำ ไปสู่การเรียนรู้ที่แท้จริง"  ต่อยอดกลับไปที่  "การเรียนรู้ และคิด ไปสู่การคาดการณ์"   จะได้แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้

จากฐานที่ต่ำ ของการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2554  ทำให้ภาพรวม ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย  มีตัวเลขการเติบโตที่สูงในช่วงปี 2555 - 2556   แต่เมื่อเทียบกับช่วงปี 2552 - 2553  แล้วจะพบว่า มีอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกัน  แสดงให้เห็นว่า โดยภาพรวมแล้ว  มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามปกติ  ภาพของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน มีความแตกต่างจากในอดีต อย่างชัดเจน  ในอดีตนั้น มีอัตราดอกเบี้ยที่สูง  เงินบาทอ่อนค่า  มีการเก็งกำไรและไม่ได้ลงทุนตามปัจจัยพื้นฐาน   เศรษฐกิจไทย และ GDP ในช่วงนั้น  เติบโตภายใต้ความเปราะบาง  รายได้ประชาชาติส่วนใหญ่ มีการกระจุกตัว  โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล   แตกต่างกับในปัจจุบัน ที่มีการกระจายรายได้ไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้นเรื่อยๆ จากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รายได้ปริญญาตรี 15,000 บาท ต่อเดือน

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน  ระบบคมนาคม  การขนส่งมวลชน  รถไฟรางคู่  และรถไฟความเร็วสูง  ที่จะมีการเชื่อมต่อประเทศไทยสู่  AEC   จะทำให้เศรษฐกิจ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย เติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น   นอกจากนี้ อัตราค่าเช่า และราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีราคาที่ถูกกว่า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน  อย่างเช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ประกอบกับจะมีการเปิดเสรีอาเซี่ยน หรือ AEC ในปี 2558 ที่จะส่งผลให้ภาคการลงทุน และการท่องเที่ยว มีการเติบโตที่สูงขึ้น   ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะทำให้มีความต้องการและกำลังซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นเช่นเดียวกัน   โดยจากการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของผม คาดว่า  "ค่าเฉลี่ย"  จำนวนที่อยู่อาศัยที่จะขอจดทะเบียนในปี  2013-2020   จะอยู่ที่ระดับ  97,625 ยูนิต ในปีนี้ , 108,022 ยูนิต ในปี 2014,  119,527 ยูนิต ในปี 2015,  132,258 ยูนิต ในปี 2016,  และ ในปี 2020 จะมีตัวเลขการขอจดทะเบียนเพิ่มขึ้นที่ระดับ  198,260 ยูนิต  ตามลำดับ   ย้ำนะครับว่า เป็นค่าเฉลี่ย  ตัวเลขมันอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าของผมในช่วง 1-5 ปี หรือ 1-2 ปีแรกก็ได้  มันเป็นค่าเฉลี่ยระยะ 5-10 ปี ที่คิดลดแล้ว จากการประยุกต์ใช้ ในการวิเคราะห์การลงทุนในบริษัทอสังหาริทรัพย์ล่าสุดของผม ที่ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

เพราะฉะนั้น นับตั้งแต่ปี 2013 นี้ ไปจนถึงปี 2020  ผมคิดว่า จะเป็นแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งแตกต่างจากในอดีตอย่างชัดเจน  และจะเติบโต อย่างค่อยเป็นค่อยไป  โดย "มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ"   จากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น  อย่างที่ผมเรียนไว้ข้างต้น  เมื่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยจากนี้ไป มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง  คาดว่าในช่วงปี 2015 หรือภายในปี 2020  เราจะเห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตที่ตัวเลขระดับ  7-10%  อย่างมีนัยสำคัญ  อย่างไรก็ตาม  วิกฤตฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย  ผู้ประกอบการก็ได้รับบทเรียนมาแล้วในช่วงปี 2540    ประกอบกับปัจจุบันมีการ  "ลงทุนตามปัจจัยพื้นฐาน  ความต้องการของลูกค้า และทำเล"  ถ้าจะเกิดอีกครั้ง คงจะอีกนาน  สุดท้ายแล้ว จากความรู้และประสบการณ์ของผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ไม่น่ายาก

แต่ที่น่าเป็นห่วง ในขณะนี้และในอนาคต  น่าจะเป็นหนี้สินภาคครัวเรือนในกลุ่มเช่าซื้อมากกว่า  ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูงและมีอัตราการปล่อยสินเชื่อ ที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าในภาคอสังหาริมทรัพย์ ถึงแม้ว่าสัดส่วนของยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อ GDP  มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก  19.9% ในปี 2555  เป็น 21-22% ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า  ถ้าจะได้รับผลกระทบ น่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ในส่วนของสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล  เพราะการเข้าถึงสินเชื่อ เป็นไปได้ยากกว่า ประกอบกับทางธนาคารพาณิชย์หลายๆ ธนาคารมีความรัดกุมในการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว

นอกจากนี้ความเสี่ยงของตัวสินทรัพย์ในกลุ่มที่อยู่อาศัย อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล  ผมคิดว่า วิกฤตเศรษฐกิจไทยครั้งต่อไปที่เราต้องจับตา และอาจจะประสพพบเจอ น่าจะเป็น  "วิกฤตหนี้สินครัวเรือน"  หรือเราอาจจะเรียกมันว่า  "วิกฤตซับไพรม์"ในประเทศไทย  ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้วในอเมริกา ในช่วงปี 2008 แต่มันยังไม่เกิดกับประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างประเทศไทย!   ขอให้ท่านผู้อ่าน โชคดีทุกๆ คนครับ.

ติดตาม สนทนา หรือแชร์มุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการลงทุนกับเรา ได้ที่  https://www.facebook.com/TCBI.VI

☀บทความที่เกี่ยวข้อง

การลงทุนทางเลือกในยุคดิจิตอล ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก